November 30, 2022
BANGKOK – กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาไทยร่วมกับประชาคมโลกสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนเมียนมาอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำเมียนมาไปสู่ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ แม้ว่าเผด็จการทหารของ มิน อ่อง หล่าย ล้มเหลวในการควบคุมประเทศ แต่กองกำลังฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยไม่สามารถขับไล่กองทัพออกจากการเมืองของเมียนมาได้เองโดยลำพัง กองกำลังที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรในประชาคมโลก
29 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) โดยมี กษิต ภิรมย์ หนึ่งในคณะกรรมการของAPHR และ ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation :PEF) เป็นตัวแทนแถลงชี้แจงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมมุษยชนที่เกิดขึ้นภายในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาและสื่อมวลชนไทยให้ความสนใจกับสถานการณ์ในเมียนมา ย้ำว่าหากประเทศเพื่อนบ้านของไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ปัญหาเหล่านั้นอาจกระทบมาถึงไทยผ่านทางชายแดน เช่น การลักลอบค้าสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและอาวุธเถื่อน
“ประเทศไทยควรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ตกถึงประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยของเมียนมาอย่างแท้จริง โดยการเปิดชายแดนให้ชาวเมียนมาหลบหนีมาหาที่ปลอดภัย เปิดรับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ให้เข้ามาอยู่ในไทยเป็นการชั่วคราว และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยไม่ผลักดันพวกเขากลับสู่ประเทศเมียนมาในขณะที่รัฐบาลทหารยังครองอำนาจ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเหล่านี้ ไทยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินมูลค่ามหาศาล เนื่องจากปัจจุบันมีสหประชาชาติและรัฐบาลต่างชาติให้ความช่วยเหลือด้านเม็ดเงินอยู่แล้ว นานาชาติเพียงต้องการให้ไทยเปิดทางแก่การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนมากขึ้น” กษิต ภิรมย์ คณะกรรมการของ APHR และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์ในประเทศยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่อง เผด็จการทหารนำโดย พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ทำสงครามกับประชาชนอย่างป่าเถื่อน และทำลายเศรษฐกิจของประเทศ โดยกองทัพได้สังหารประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 2,371 ราย และมีผู้พลัดถิ่นหลายแสนคน เผด็จการทหารยังจำคุกนักโทษการเมืองไม่ต่ำกว่า 15,000 คน และทำให้การทารุณกรรมผู้ถูกจับกุมเหล่านั้นกลายเป็นกิจวัตร ซ้ำยังเปิดฉากปราบปรามเสรีภาพการแสดงออกและการรวมกลุ่มอย่างกว้างขวาง รวมถึง การปราบปรามสื่ออิสระและประชาสังคมอย่างรุนแรง
แม้อาเซียนจะพยายามแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมา เช่น การออกฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว รวมทั้งการแต่งตั้งทูตพิเศษเกี่ยวกับกิจการของเมียนมา ทว่าจากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการไต่สวนของรัฐสภาระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ในเมียนมา (International Parliamentary Inquiry: IPI) พบว่าการแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมายังไม่มีความคืบหน้า จัดได้ว่าประสบความล้มเหลว และโดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของนานาชาติยังเข้าไม่ถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในเมียนมา
“การช่วยเหลือยังจำกัดอยู่ในตัวเมืองบางเมืองที่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายทหาร การช่วยเหลือยังไม่ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ และมีจำนวนมากที่อพยพหนีตายมาอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งคือบทบาทหน้าที่ของทูตพิเศษมีความจำกัดและไม่ชัดเจน และเป็นตำแหน่งชั่วคราว และไม่มีความต่อเนื่องในการทำภารกิจ ในการนี้จึงเห็นว่าฝ่ายอาเซียนควรแต่งตั้งบุคลากรเข้าร่วมในงานของทูตพิเศษเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรที่จะรองรับงานและขยายบทบาทได้มากยิ่งขึ้น และมีสถานะเป็นงานประจำ
ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมาเราเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยยังคงเลือกยืนอยู่ข้างรัฐบาลทหารเมียนมา และเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชนเมียนมา นโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่เปิดให้มีการรับเข้ามาของผู้ลี้ภัยใหม่ และยังไม่เคยติดต่อพูดคุยกับฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้านฝ่ายทหารเมียนมา” ชลิดา กล่าว
ในขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า บทบาทสมาชิกรัฐสภาไทยในเรื่องเมียนมานี้ยังมีความจำกัดอยู่ สมควรที่จะมีการทบทวนท่าที และดำเนินการบทบาทในเชิงรุก เพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา สมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบันควรเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาชายแดน และการนำสันติภาพและประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา นอกจากนั้นรัฐบาลไทยก็ควรเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย รวมทั้งการให้สื่อได้เข้าไปตรวจสอบจัดหาข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน
“เมื่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาเดือดร้อน และเราไม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ไทยจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลโดยตรง เพราะปัญหาจะเข้ามาถึงเราผ่านทางชายแดนไทย-เมียนมา เช่น ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการลอบค้าทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ สัตว์ป่า และอาวุธเถื่อน รวมถึงโรคระบาดที่ไม่ใช่แค่โควิด-19 ปัจจุบันสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในเมียนมาอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากภาครัฐไม่อยู่ในสถานะที่จะดำเนินการช่วยเหลือดูแล เช่น การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนพลเมืองได้ เพราะการสู้รบที่กระจัดกระจายไปทั่ว และความไม่พร้อมของฝ่ายกองทัพเมียนมาที่กุมอำนาจรัฐอยู่” กษิตกล่าวปิดท้าย
ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) was founded in June 2013 with the objective of promoting democracy and human rights across Southeast Asia. Our founding members include many of the region's most progressive Members of Parliament (MPs), with a proven track record of human rights advocacy work.